Blue Lotus Flower

มหัศจรรย์แห่งจิตภาพ


นครวัด (Angkor Wat)

นคร วัดเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงที่สุดของชาวกัมพูชาจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไปโดยปริยายดังจะเห็นได้จากธงชาติของกัมพูชาที่ปรากฏภาพนครวัดอยู่กลางผืนธง นครวัดสร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ตั้งอยู่บนพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความยาวด้านละประมาณ 1.5 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำทั้ง 4 ด้าน และมีกำแพงยาวโอบล้อมสิ่งก่อสร้างภายในทั้งหมด ด้านในแนวกำแพงจะสร้างระเบียงเชื่อมต่อกัน มีประตูทางเข้าถึง 4 ทิศ โดยมีประตูหลักอยู่ทางทิศตะวันตก
 มีเสียงเล่าขานทำนองเดียวกันว่า ก้าวแรกที่สัมผัสทางเข้าจะมีสะพานหินขนาดใหญ่ทอดยาวผ่านคูเมืองขนาดใหญ่ ทำให้เห็นภาพอันวิจิตรของสถาปัตยกรรมทรงปรางค์ 5 ยอดตั้งสง่างามปรากฏสู่สายตา ขณะที่สองข้างทางเดินจะเป็นศิลาสลักรูปพญานาคอยู่รายทางไปจนกระทั่งถึงซุ้มประตูทางเข้าใหญ่ชั้นใน แนวกำแพงแต่ละชั้นจะมีระเบียงติดต่อกันตลอด และมีการสร้างบันไดยกระดับขึ้นในทุกๆ ชั้นของแนวกำแพง ประการสำคัญ บริเวณแนวกำแพงชั้นในทั้ง 4 มุม ยังมีองค์ปรางค์สร้างไว้ทุกมุมและจากแนวกำแพงชั้นในจะนำเข้าสู่เทวาลัยทรงปรางค์ 5 ยอด ซึ่งจัดวางตำแหน่งอย่างสมมาตรทั้ง 4 องค์ และอีก 1 องค์ เป็นปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง
                เหตุผลที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างปราสาท นครวัดขึ้นมานั้น ณ วันนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน บ้างก็ว่านครวัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร บ้างก็ว่าสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระวิษณุ บ้างก็ว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างไว้เพื่อบรรจุพระอัฐิหรือสุสานของพระองค์ เนื่องจากนครวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันตกอันเป็นทิศแห่งความตาย บ้างก็ว่านครวัดน่าจะสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศาสนสถานกลางพระนคร
                อย่างไรก็ตาม หลังคริสต์ศตวรรษที่15 โบราณสถานแห่งนี้กลับถูกปล่อยให้รกร้างด้วยเหตุผลหลายประการ สืบเนื่องมาจากการเมืองภายในและการสู้รบกับเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เมืองพระนคร (เมืองเสียมราฐ) อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร และเป็นที่ตั้งของนครวัดต้องล่มสลาย ผู้นำอาณาจักรจึงย้ายศูนย์กลางการปกครองมาตั้ง ณ กรุงพนมเปญ จนกระทั้งปัจจุบัน ส่งผลให้โบราณสถานต่างๆ ในเมืองพระนครต้องกลายเป็นที่รกร้างกลางป่ารกชัฏอยู่หลายร้อยปี
                จนกระทั้ง อองรี มูโอต์ นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส เข้ามาค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งนี้ เขาได้บรรยายถึงเมืองพระนครว้าว่า เป็นนฤมิตรทางสถาปัตย์ ซึ่งอาจไม่มีสิ่งก่อสร้างใดในโลกเสมอเหมือนได้และคำกล่าวนั้นไม่ได้เกินจริงแต่ประการใด นับแต่นั้นคนแทบทุกมุมโลกต่างก็รับรู้ว่านครวัดและโบราณสถานต่างๆ ในเมืองพระนคร มิเพียงแต่มีความยิ่งใหญ่ตระการตา หากยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ จนได้รับความสนใจจากผู้ใคร่รู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ มาจนกระทั้งปัจจุบัน


ตำนานสร้างนครวัดฉบับหลวง
               การจัดวางผังของนครวัดเปรียบเสมือนผังจำลองของระบบจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาฮินดูที่แพร่เข้าสู่อาณาจักรขอมโบราณ คือมองว่าจักรวาลมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วยเขา 5 ยอด เป็นที่อยู่ของเหล่าทวยเทพ มีแผ่นดิน 6 ทวีป เป็นที่อยู่ของมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ มี 7 มหาสมุทรล้อมรอบเป็นวงแหวน เช่นเดียวกับการสร้างนครวัดซึ่งมีการสร้างคูน้ำล้อมรอบแผ่นดินตามลำดับขั้น แนวทางที่ลัดตรงสู่ปราสาทหินซึ่งรายทางด้วนรูปพญานาคทั้งสองข้างถนนนั้น เปรียบดังจุดเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์ และกลุ่มปรางค์ที่เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุที่สถิตของพระศิวะตามเทวดาตำนานของฮินดู ซึ่งโดยทั่วไปกษัตริย์ขอมส่วนใหญ่ทรงเลือกพระศิวะเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญ
                หากแต่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้รังสรรค์พระนครวักกลับทรงนับถือพระวิษณุ ดังเห็นได้จากภาพสลักของพระวิษณุปรากฏอยู่ในตำแหน่งสำคัญของศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งกว่านั้นนครวัดกลับมีการจัดวางแผนผังที่แตกต่างไปจากศาสนสถานแห่งอื่นๆที่นิยมสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานบางอย่างทำให้นักโบราณคดีเชื่อว่า สถานที่แห่งนี้ยังสร้างเพื่อใช้เป็นที่จัดพิธีศพพระเจ้าสุริยวรมันที่2 ให้กลับสู่สรวงสวรรค์

ตำนานสร้างนครวัดฉบับชาวบ้าน
        ตามหลักฐานแสดงให้เห็นว่าปราสาทนครวัด ไม่ใช่ “วัง” ที่ประทับของกษัตริย์ แต่เป็น “วัด” ในศาสนาฮินดูกับเป็น “สุสาน” ฝังศพกษัตริย์ นักปราชญ์ไทยท่านหนึ่งได้ผูกคำศัพท์ขึ้นมาเรียกรวมๆว่า “มฤตกเทวาลัย” อย่างไรก็ตาม คนเขมรทั่วไปในสมัยหลังๆ คือหลังยุคปราสาทนครวัดเชื่อว่า “นาค” เป็นผู้สร้างนครวัดให้เป็น “วัง” ที่ประทับของกษัตริย์ บางครั้งก็เชื่อว่าพระอินทร์สั่งให้พระวิษณุกรรมเนรมิตขึ้นให้เป็น “วัง”

เนรมิตปราสาทถ่ายทอดเป็นมหากาพย์อันเลื่องลือ
      การก่อสร้างปราสาทใช้หินทรายมาขัดแต่งให้เป็นก้อนขนาดใหญ่ซ้อนกัน การยึดหินแต่ละก้อนจะยึดด้วยหมุดที่ทำจากโลหะ จะนั้นจะใช้วิธีการขัดแต่ง สกัดและสลักเสลาหินทรายให้มีรูปลักษณ์ตามจินตนาการของผู้สร้าง
                แทบทุกตารางนิ้วเต็มไปด้วยเรื่องราวของภาพสลักมากมาย บางส่วนเขียนเป็นโครงร่างๆ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเขียนลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง สะท้อนถึงความศรัทธาของผู้คนยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ภาพที่นิยมสลักอาทิ เช่น ภาพเทวดาและอัปสร หรือชาวสวรรค์ บ้างก็อยู่เดี่ยว บ้างก็อยู่เป็นคู่ และบ้างก็เป็นกลุ่มรวมกัน บางช่วงถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราว เช่น การทำสงครามระหว่างทวยเทพและอสูร ซึ่งเป็นฉากในละครที่ได้รับการสืบทอดจากมหาภารตะรามายณ คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย และมหากาพย์ลือเลื่องสมัยโบราณ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระชนม์ชีพ และการยกย่องนับถือที่พสกนิกรพึงมีต่อผู้ปกครองอาณาจักร

กวนเกษียรสมุทรและนางอัปสร: ภาพสลักลือชื่อ
            บริเวณระเบียงด้านทิศตะวันออกของปราสาทนครวัด ปรากฏสลักนูนต่ำรูปยักษ์และอสูรฉุดรั้งนาคหลายเศียรเพื่อกวนทะเลน้ำนม ตามตำนานกล่าวที่ว่า เหล่าเทพและอสูรจะมารวมตัวกันเพื่อกวนเกษียรสมุทรให้ได้น้ำอมฤต เรื่องราวตอนนี้ต่อเนื่องไปถึงผนังกำแพงด้านทิศเหนือ และจากผนังกำแพงด้านทิศเหนือถึงกำแพงด้านทิศตะวันตกนั้นเป็นภาพเรื่องราวจากรามายณ จากกำแพงด้านนอกสู่ชั้นในจะเห็นสระน้ำขนาดเล็ก 4 สระ เดิมทีนั้นเคยใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ศิลปะที่รายล้อมในชั้นนี้เป็นรูปสลักเสาหินและลวดลายต่างๆ แต่สิ่งที่ดึงดูดสายตาอย่างมากคือ รูปนางอัปสร ซึ่งเป็นนางรำที่เกิดมาจากฟองคลื่นในพิธีกวนน้ำอมฤต มีจำนวนมหาศาล โดยนางอัปสรเหล่านี้เป็นผู้สร้างความสำราญให้กับทวยเทพ ภาพนางอัปสรนี้มีท่าทางร่ายรำที่แตกต่างกันไป ในลีลาอันอ่อนช้อยงดงามมีอยู่ทั้งสิ้นราว 1,700 รูป

ชัยวรมันที่ 7: อีกหนึ่งกษัตริย์ผู้ทรงอิทธิพล
            แม้พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงเป็นผู้สร้างปราสาทนครวัด ทว่านามกษัตริย์ที่สำคัญอีกพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าชัยวรมันที่7 (ราวศตวรรษที่ 18) กล่าวคือ ไม่เพียงทรงเป็นกษัตริย์ที่ชำนาญด้านศึกสงคราม หากยังเป็นผู้เชี่ยวชาญการปกครอง ทรงจัดระเบียบกฎหมายทุกหมวดหมู่เพื่อให้พระนครมีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งยังทรงสร้างสถานพยาบาลจำนวนมาก ประการสำคัญ ได้ชื่อว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้สร้างปราสาทเป็นจำนวนมากในเมืองพระนคร เช่น ปราสาทนครธม ปราสาทพระขรรค์ ปราสาทตาพรหม และปราสาทบันทายฉมาร์ นอกจากนี้ ในแผ่นดินของพระองค์มีความกว้างใหญ่ไพศาลมาก คือ ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน รวมทั้งประเทศจามปา ลาว สยาม ส่วนหนึ่งของแหลมมลายู และบางส่วนของประเทศพม่าพระองค์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรกษัตริย์

ระบำชีวิตของนครวัด
ค.ศ. 802               พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองนคร
ค.ศ. 1112             พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างภาพแกะสลัก พร้อมทั้งศิลาจารึกที่ฝาผนังล้อมรอบปราสาทนครวัด
ค.ศ. 1533             เมืองนครตกเป็นเมืองขึ้นของไทยก่อนกลายเป็นเมืองร้างในเวลาต่อมา
ค.ศ. 1863             อองรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสค้นพบซากโบราณสถานนครวัด
ค.ศ. 1907             นักท่องเที่ยวชาวยุโรปกว่า 200 คนเริ่มเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมนครวัด
ค.ศ. 1928             วารสารกัมพุชสุริยามีการแปลบทความของหลุยส์ ฟีโนต์ ผู้อำนวยการฝรั่งเศสศึกษาแห่งปลายบูรพาทิศเรื่อง “กำเนิดเมืองพระนคร” เป็นภาษาเขมร
ค.ศ. 1931             ประเทศฝรั่งเศสจักงาน “Colonial Exposition” มีการสร้าง “นครวัดจำลอง” ไว้เป็นส่วนหนึ่งของงาน ณ กรุงปารีส

มีสมมุติฐานถึงระยะเวลาในการสร้างนครวัดของนักสำรวจและนักวิชาการทางโบราณคดีหลายราย ได้คาดการณ์ไว้คล้ายๆกันว่า การสร้างอาจใช้คนหรือทาสผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน ใช้ช้างมากกว่า 40,000 เชือก และใช้ช่างจำหลักหินที่มีฝีมือไม่น้อยกว่า 5,000 คน ด้วยเทคนิคในการก่อสร้างที่ชาวเขมรมีอยู่ในขณะนั้น ถือได้ว่ามีความชำนาญมากกว่าชนชาติอื่นในแถบอินโดจีน ชาวเขมรโบราณสามารถสร้างปราสาทหลังหนึ่งได้จากทุกด้านพร้อมกันโดยใช้คนงานจำนวนมาก ตามการคำนวรเชื่อว่า การก่ออิฐสร้างปรางค์ที่สูงประมาณ 12 เมตร สามารถสร้างให้เสร็จได้ภายใน 30 วัน การสร้างปราสาทนครวัดจึงไม่น่าใช้เวลาเกินกว่า 50 ปี



อ้างอิง: เอรกรินทร์ พึ่งประชา. มรดกโลก มรดกมนุษยชาติ .พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ปาเจรา, 2550.
ที่มาของรูป: https://www.google.co.th
ที่มาของวีดีโอ: http://www.youtube.com/watch?v=kkpX6ZD5NqQ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น